หลังจากเหตุการณ์สะเทือนโลกไอทีอย่างการที่ Google ออกมาประกาศว่าจะหยุดให้บริการ Google Photos พื้นที่เก็บรูปภาพและวิดีโอแบบฟรีไม่จำกัด สำหรับรูปภาพ High Resolution ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2021 เป็นต้นไป รูปภาพที่อัปโหลดหลังจากวันนั้นจะถูกนับรวมในพื้นที่ฟรี 15 GB และหากแอคเคาท์ไม่มีการเข้าใช้งานหรือจัดเก็บไฟล์เกิน 15 GB เป็นเวลา 2 ปี รูปภาพและวิดีโอเหล่านั้นอาจถูก Google ลบทิ้งหลังจากแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ทราบ จึงเกิดคำถามคือ ถ้าเกิดใช้งานพื้นที่ฟรีจนเต็มแล้ว จะทำอย่างไรต่อไปดี? เพราะถึงเวลาที่ต้องเลือกแล้วว่าจะยอมจ่ายค่าธรรมเนียมรายเดือนเพื่อซื้อพื้นที่เพิ่ม หรือมองหาตัวตายตัวแทนระยะยาวอื่นๆ ซึ่งผู้ใช้มากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกต่างก็เริ่มสงสัยว่าควรจะวางแผนจัดเก็บรูปภาพอย่างไรดี ทั้งรูปภาพเดิมที่มีอยู่และรูปภาพในอนาคต ซึ่งเราได้รวบรวมตัวเลือกในตลาดมาให้ดูกัน พร้อมสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในอนาคต เรามาดูกัน!
เพราะ Google Photos ใจดี ให้บริการฟรีมาอย่างยาวนานจนเราๆ เสียดาย หากไม่อยากเสียเงินและเริ่มคิดจะย้ายไปเก็บที่คลาวด์ฟรีเจ้าอื่น อาจต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ไปเลย แม้ผู้ให้บริการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์เจ้าใหญ่ๆ ทั้ง OneDrive, Amazon Drive, Dropbox หรือ iCloud จะให้บริการพื้นที่เก็บฟรี แต่ก็ไม่มีเจ้าไหนที่ให้ขนาดพื้นที่จัดเก็บมากกว่า 15 GB ของ Google อีกแล้ว ซึ่งหมายความว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะโยกย้ายข้อมูลไปที่คลาวด์สาธารณะเจ้าไหน แต่ถ้าต้องใช้พื้นที่ที่มากขึ้น ก็จำเป็นต้องเสียเงินอัปเกรดพื้นที่นั้นอยู่ดี
สำหรับ Google Drive เอง ดูเหมือนว่าจะมีการแผนอัปเกรดให้เลือก ตั้งแต่ความจุ 100 GB ไปจนถึง 2 TB แต่สำหรับผู้ใช้งาน Laptop ที่ใช้ SSD เช่น Macbook หรือสมาร์ทโฟนที่รองรับการจัดเก็บความจุ 256 GB แล้วนั้น ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 120 เหรียญสหรัฐต่อปี หรือประมาณ 3,700 บาท เพื่อจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดบนคลาวด์ เมื่อคำนวณค่าธรรมเนียมสะสมรายปีแล้วนั้นก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงทีเดียว
หากไม่อยากง้อคลาวด์สาธารณะที่มีค่าใช้จ่ายสะสมแล้ว คงหนีไม่พ้นวิธีการเก็บข้อมูลรูปแบบเดิมๆ อย่าง External Hard Drive แม้ว่าจะเป็นที่เก็บข้อมูลอันแสนสะดวก พกพาง่าย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการด้วยความเป็น Offline จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลพร้อมกันเหมือนระบบคลาวด์ได้ การค้นหาไฟล์ข้อมูลเมื่อต้องการที่ยุ่งยาก แถมยังมีความเสี่ยงที่ข้อมูลสูญหายด้วยปัญหาในตัวอุปกรณ์ ทั้งต้องกังวลเรื่องไวรัสและอุบัติเหตุที่อาจเกิดจากผู้ใช้งาน แถมการโยกย้ายรูปภาพทั้งหมดที่เก็บไว้บนระบบคลาวด์สาธารณะไปยัง External Hard Drive หลายๆ ตัวนั้นก็มีความยุ่งยากอยู่ไม่น้อยทีเดียว
เพราะทั้ง 2 ทางเลือกข้างต้นอาจยังไม่ตอบโจทย์ในการจัดเก็บรูปภาพในระยะยาว การเป็นเจ้าของคลาวด์ส่วนตัวโดยการใช้ Network-Attached Storage (NAS) ก็เป็นอีกหนึ่งทางออกที่น่าสนใจ สิ่งนี้คือ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลเทราไบต์ (TB) ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายในบ้านหรือสำนักงานที่มีความปลอดภัยสูง เพราะทุกคนมีสิทธิ์ความเป็นเจ้าของข้อมูลของตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์ มาพร้อมคุณสมบัติการปกป้องและกู้คืนข้อมูลในตัว และยังครอบคลุมของการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ต่างจากคลาวด์สาธารณะที่ใช้อยู่ มาดู 3 เหตุผลหลักที่ควรมี NAS ในครอบครอง!
เพราะชีวิตผู้คนส่วนใหญ่ต้องเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูล และน่าจะเคยประสบปัญหา ทั้งเผลอลบไฟล์โดยไม่ตั้งใจ ฮาร์ดแวร์ล้มเหลวแบบไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า หรือโดนไวรัสโจมตีจนข้อมูลเสียหาย หากไม่อยากเสี่ยงให้ไฟล์ ข้อมูล และรูปภาพที่เก็บไว้รั่วไหลเหมือนข่าวคนดัง หรือโดนแฮคข้อมูลบนคลาวด์สาธารณะ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าบริการคลาวด์สาธารณะที่ปลอดภัยสูงนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด แต่การหันมาใช้โซลูชันใหม่อย่าง NAS นั้นคือคำตอบที่เหมาะกว่า เพราะผู้ให้บริการ NAS หลายเจ้า เช่น Synology มีแอปพลิเคชันสำรองและกู้คืนข้อมูลที่ครอบคลุมแถมมาด้วย สามารถตั้งค่าการปกป้องรูปภาพและข้อมูลต่างๆ ได้ตามต้องการ หมดกังวลเรื่องรูปภาพสูญหายหรือเสียหายไปได้เลย
ส่วนค่าใช้จ่ายในการซื้อพื้นที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์นั้น เมื่อคำนวณคร่าวๆ แล้ว พบว่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูล 2 TB ต้องเสียค่าใช้จ่าย 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 3,700 บาท) แต่ถ้าเสียค่าใช้จ่ายเป็นระยะเวลาถึง 5 ปี ก็แปลว่าต้องจ่ายเงินจำนวน 600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18,100 บาท เพื่อรักษาพื้นที่ขนาด 2 TB นี้ไว้
แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้งาน NAS แค่เพียงลงทุนเพียงค่าฮาร์ดแวร์เริ่มต้นเท่านั้น โดยราคาของอุปกรณ์ NAS แบบ 2 ช่อง พร้อมไดร์ฟความจุ 2 TB อีก 2 ตัวเพื่อการทำ RAID (การป้องกันข้อมูลสูญหายด้วยไดร์ฟ) ในราคาไม่ถึง 450 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 13,000 บาท) ซึ่งถือว่าถูกกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียให้กับคลาวด์สาธารณะในระยะยาวอยู่มาก นอกจากนี้ อุปกรณ์ NAS ยังรับประกันอุปกรณ์ตั้งแต่ 2 ถึง 5 ปี ทำให้ NAS เป็นฮีโร่ที่น่าจับตามองและเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
ไม่ต่างจากคลาวด์สาธารณะอย่าง Google Photos เพราะผู้จำหน่าย NAS บางรายมีให้บริการแอพมือถือและอุปกรณ์จัดการรูปภาพที่ไม่เพียงช่วยให้ผู้ใช้งานจัดการรูปภาพต่างๆ แต่ยังสามารถแชร์และเข้าถึงรูปภาพที่เก็บไว้ได้จากทุกที่ พร้อมกัน ๆ หลายคน สามารถเรียกดูและอัปโหลดรูปภาพในชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ NAS ยังมีฟีเจอร์จดจำภาพและการวิเคราะห์เชิงลึกที่ช่วยจัดกลุ่มรูปภาพตามหมวดหมู่และหัวข้อที่คล้ายคลึงกันได้
สรุปง่าย ๆ ได้ว่า อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่ยืดหยุ่นปรับขนาดได้และมีประสิทธิภาพสูงอย่าง NAS นั้น ตอบโจทย์โซลูชันการจัดการภาพถ่ายทั้งหมดในเครื่องเดียว ไม่ต้องกังวลใจว่าผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะเจ้าไหนจะเริ่มเรียกเก็บเงินค่าบริการเพิ่มเติม หรือจะต้องโยกย้ายรูปภาพหรือข้อมูลไปที่อื่น รวมถึงปัญหายิบย่อยเรื่องรูปภาพสูญหายกระจัดกระจายหลายช่องทาง หรือค่าธรรมเนียมในระยะยาวอีกต่อไป
นอกจากประโยชน์ทั้งหมดข้างต้นแล้ว ผู้จำหน่าย NAS อย่าง Synology ได้พัฒนาและออกแบบระบบปฏิบัติการเพื่อการใช้งานที่ง่าย เช่นเดียวกับการใช้งานพีซี ดังนั้นถึงเวลาบอกลากลลวงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลฟรี และสร้างที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ส่วนตัวด้วย NAS
|
Web Content Editor ท่านหนึ่ง นิยมการเล่นมือถือเป็นชีวิตจิตใจ |