เช่นเดียวกับงาน Google Launch Night In ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนก่อน งาน Google Search On เองก็ใช้การปล่อยคลิปที่อัดเตรียมไว้ก่อนหน้านี้แทนการพูดบรรยายเหมือนกับบริษัทอื่นๆ เช่นกัน และไม่เพียงแต่ทาง Google จะนำเอา AI มาช่วยพัฒนาฟีเจอร์บน Google Search เท่านั้น แต่ยังขยายการใช้งานร่วมกับบริการอื่นๆ ด้วย
การตรวจจับคำผิด ถึงแม้ว่าตอนนี้เราจะสามารถค้นหาสิ่งที่ต้องการบน Google ได้แม้จะสะกดผิดหรือตกหล่นตัวอักษรไป (มีการแสดงผลข้อความ Did you mean: (ข้อความ) ที่ผู้ใช้สามารถกดไปยังข้อความนั้นๆ ได้) ซึ่งในตอนนี้ทางบริษัทก็ได้พัฒนาอัลกอรึทึมของฟีเจอร์นี้ให้ฉลาดมากยิ่งขึ้น และสามารถคาดเดาข้อความได้มากกว่าเดิม
การแสดงผลข้อความค้นหา ปกติแล้วการแสดงผลการค้นหาของ Google จะดึงการแสดงผลของเว็บไซต์ที่มียอด SEO สูงมาไว้ด้านบน แต่ทางบริษัทได้ปรับปรุงให้มันทำการดึงข้อความที่ผู้ใช้ต้องการ (ข้อความที่พิมพ์ลงในช่องค้นหา) มาแสดงผลด้านบนสุดในลักษณะที่อ่านง่ายและตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากยิ่งขึ้น
Key Moment (ค้นหาสิ่งที่ต้องการในวิดีโอ) หลายครั้งคำตอบของสิ่งที่เราต้องการค้นหาก็อยู่ในวิดีโอ หรือการชมวิดีโอก็ทำให้เข้าใจได้มากกว่าการอ่านข้อความเพียงอย่างเดียว และด้วยฟีเจอร์ใหม่ของ Google ก็จะมีการมาร์กจุดเวลานั้นๆ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถกดชมคลิปเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องการได้
ค้นหาสิ่งที่ต้องการผ่าน Google Lens ทั้งการ ถ่ายภาพเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์ หรือการค้นหาสิ่งของที่ต้องการผ่าน Google Lens ที่ไม่เพียงแต่จะค้นหาสินค้าที่ตรงตามความต้องการได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเพิ่มคำค้นหาเฉพาะเสริมลงไปได้อีกด้วย
สไลด์รูปภาพ
การใช้เทคโนโลยี AR เข้ามาช่วยในการค้นหาสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเรียนที่สามารถเรียกดูโมเดล 3D ของสิ่งต่างๆ เพื่อให้การเรียนสนุกและเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น หรือการเรียกดูโมเดลรถแบบ 3D เพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อ และฟีเจอร์ Live View บน Google Maps ที่ช่วยให้ผู้ใช้ได้สัมผัสกับสถานที่จริงได้มากกว่า Street View (สามารถดูความหนาแน่นของคนในสถานที่นั้นๆ ได้แบบเรียลไทม์ด้วย)
สไลด์รูปภาพ
Data Commons นำเอาการรวบรวมสถิติข้อมูลต่างๆ มาแสดงผลบน Google Search โดยเมื่อผู้ใช้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถิติ (เช่น รายได้เฉลี่ยของคนในเมือง) ก็จะมีการอัปเดตจำนวนที่เป็นปัจจุบันพร้อมเส้น Knowledge Graph ให้เข้าใจง่ายขึ้น
สไลด์รูปภาพ
Hum to Search ที่ผู้ใช้สามารถฮัมเพลงที่ติดอยู่ในหัว (Earworm) เพื่อค้นหาเพลงที่ต้องการได้โดยการกดที่ไอคอนรูปไมโครโฟนใน Google Search และพูดว่า “What’s this song” หรือกดที่ “Search a song” หรือทำการค้นหาใน Google Assistant ได้ด้วยการพูดว่า “Hey Google, What’s this song” จากนั้นฮัมเพลงราว 10 - 15 วินาที ก็จะสามารถค้นหาเพลงที่ต้องการได้ (ไม่ต้องพึ่งกระทู้พันทิปอีกต่อไป)