วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ธนาคารจิตอาสา มูลนิธิฟรีดิช เนามัน และภาคีเครือข่ายป้องกันและตรวจสอบข่าวลวง จัดงานเสวนานักคิดดิจิทัลครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด “ทำไมความจริงร่วมจึงสำคัญ” พร้อมเปิดตัวนวัตกรรมโคแฟค (Collaborative Fact Checking : Cofact) นวัตกรรมที่มาในรูปแบบของ เว็บไซต์ แอปพลิเคชันไลน์ แชตบอท ที่มีฐานข้อมูล มาช่วยตรวจสอบเนื้อหาข่าวสารต่างๆ บนโลกออนไลน์ ว่าจริงหรือลวง พร้อมปฐมนิเทศจิตอาสาพัฒนาทักษะด้านเท่าทันสื่อและสุขภาวะทางปัญญารุ่นแรก
โดยในช่วงแรกเป็นการกล่าวเปิดงานจากพันธมิตร และเครือข่ายผู้ร่วมก่อตั้งจากหลายภาคส่วน มีการอธิบายถึงปัญหา และที่มาของการก่อตั้งนวัตกรรม COFACT ว่าเป็นมาอย่างไร
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. (คนที่ 4 จากซ้าย) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีข่าวลวงระบาดอยู่มากมาย เช่น การหลอกขายสินค้า ข่าวภัยพิบัติ ความรู้ผิดๆ ด้านสุขภาพ ซึ่งหากประชาชนไม่รู้เท่าทัน อาจตกเป็นเหยื่อ หรือส่งต่อไปโดยไม่รู้ตัว แนวทางการแก้ไข จึงจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มาแสวงหาความจริงร่วมกัน จึงเป็นที่มาของโคแฟคทั้งบนเว็บไซต์ Cofact.org และไลน์ @Cofact ซึ่งเป็นเครือข่าย “ชุมชนโคแฟค” ที่เปิดพื้นที่ให้พลเมืองทั่วไป สามารถร่วมกันตรวจสอบข่าวลวง และกลายเป็นผู้ค้นหาความจริง หรือ Fact Checker บนโลกออนไลน์
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (คนที่ 2 จากขวา) กล่าวว่า โคแฟคเป็นนวัตกรรมทางสังคม ที่จะมาช่วยตรวจสอบข้อมูลว่าจริงหรือลวง ซึ่งการจะทำให้ประสบความสำเร็จจริงได้นั้น จะต้องขยายงานจากการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ ไปสู่การสร้างชุมชนเพื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริง ถือเป็นภารกิจในการปฏิรูปสื่อในยุคดิจิทัลที่หันกลับมาสร้างความเข้มแข็งในภาคพลเมือง ให้การแก้ไขข่าวลวงด้วยหลักวารสารศาสตร์ เช่น การสืบค้นข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือก่อนเสมอ และสร้างค่านิยมใหม่ให้กลายเป็นวัฒนธรรมของสังคม
เราตั้งใจจะสร้าง COFACT ให้เป็นคอมมิวนิตี้สำหรับคนไทยในด้านการช่วยกันตรวจสอบเนื้อหาข่าวสารต่างๆ และสร้างค่านิยมการเสพเนื้อหาข่าวให้ตระหนักว่าควร เช็คก่อนแชร์เสมอ เพียงแค่คุณเข้าไปที่เว็บไซต์ หรือไลน์ และพิมพ์เนื้อหาที่ต้องการตรวจสอบเช่น "ฟ้าทลายโจรกับโควิด" แพลตฟอร์มจะดึงข่าวต่างๆ จากทั่วประเทศ ที่เป็น Databased มาเสนอให้คุณได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมถึงให้คุณช่วยยืนยันได้ว่าเป็นความจริง ซึ่งสื่อต่างๆ สามารถนำสื่งเหล่านี้ไปใช้ได้ เพื่อตรวจสอบเนื้อหาก่อนเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ
ด้านดร.ณภัทร เรืองนภากุล รองคณบดีคณะ สารสนเทศ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้ประสานงานเครือข่ายโคแฟคภาคเหนือ กล่าวว่า ผลกระทบของข่าวลวงต่อชีวิตนั้นเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ข้อมูลลวงที่ถูกผลิตซ้ำ จะทำให้เกิดความเชื่อผิดๆ ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เราต่างทราบกันดีว่าพลังของพลเมืองนั้นมีความสำคัญ ต่อการขับเคลื่อนและเปลี่ยนผ่านสังคม กลไกของโคแฟคตอบโจทย์ทั้งการเก็บข้อมูลและการมีส่วนร่วม เหมาะสมกับวิถีของคนยุคดิจิทัล จึงเชื่อว่าการเข้าร่วมเป็นจิตอาสา เครือข่ายโคแฟค (ภาคเหนือ) จะทำให้ทุกพื้นที่ได้ฝึกการใช้วิจารณญาณ เปิดใจรับความเห็นต่าง ร่วมกันตรวจสอบข่าวลวง ทำให้สังคมไทยก้าวสูการเป็นสังคมที่รู้เท่าทันสื่อ ส่งผลต่อคุณภาพการดำเนินวิถีชีวิตต่อไป
ต่อมาเป็นช่วงของการเสวนาในหัวข้อ 'Fact Checkers' ยุคดิจิทัล ทำไมความจริงร่วมจึงสำคัญ ซึ่งเป็นไฮไลท์ของาน โดยมีนายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล (สิงห์) พิธีกร ดารานักแสดง เป็นผู้ดำเนินรายการ
นางกนกพร ประสิทธิ์ผล (คนที่ 2 จากซ้าย) ผู้อำนวยการสำนักสื่อใหม่ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนด้านสื่อมวลชน ปัจจุบันการบริหารจัดการสื่อไม่ควรต้องคำนึงถึงความรวดเร็วในการนำเสนอเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงความถูกต้องด้วย ทั้งนี้เราในฐานะสื่อจึงมุ่งเน้นที่กระบวนการตรวจสอบเนื้อหาหลายขั้นตอนก่อนจะปล่อยข่าวใดๆ ออกไป เพื่อประโยชน์ของผู้รับข่าวสาร
อีกทั้งประเด็นเรื่องการเช็คข้อมูลก่อนแชร์ เราในฐานะสื่อ มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องพยายามส่งทอดความรู้ และความตระหนักรู้ไปถึงชาวบ้านที่ห่างไกล เพราะปัจจุบันสำหรับชาวบ้านทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่คนในกรุงเทพฯ เอง การตระหนักถึงการแชร์ข้อมูลโดยไม่ตรวจสอบ ยังเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งหลายฝ่ายคงต้องร่วมมือกันเพื่อนำสารเหล่านี้ไปถึงพวกเขา ซึ่ง COFACT ก็ถือเป็นสารนั้นที่อาจตอบโจทย์
นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าว อสมท (คนที่ 3 จากขวา) กล่าวเสริมว่าการแชร์ข้อมูล โดยไม่ตรวจสอบเป็นปัญหาที่คนไทยหลายคนยังต้องเรียนรู้อีกมาก ทุกวันนี้ มีเหตุการณ์ที่ข่าวปลอมสร้างผลกระทบต่อใครหลายคนมากมาย เช่นเรื่อง "หมูหยองปลอมทำจากสำลี" เหตุการณ์นี้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างต่อพ่อค้าแม่ขาย ทำให้ตนต้องรีบลงพื้นที่ตรวจสอบ จนพบว่ามันไม่เป็นความจริง แต่ถึงแม้จะพบความจริง แต่เนื้อหาเหล่านั้นก็ยังคงกระจายอยู่บนโลกออนไลน์และยังมีคนตกเป็นเหยื่ออยู่
ต่อมาเป็นความเห็นของนายจิคัยดีล เจะและ Deen Vlog และ YouTuber คนดัง (คนที่ 4 จากซ้าย) เล่าว่า ตนมีชื่อเสียงจาก TikTok ด้วยการทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการทดลองต่างๆ ที่ผู้ติดตามแชร์มาให้ทำตาม เช่น นำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปซ่อมชักโครก หรือเอาจานแตกแช่นมไว้นานๆ จานเหล่านั้นจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม เป็นต้น ซึ่งพอตนทำให้ผู้ติดตามดูเป็นตัวอย่าง เกือบทุกครั้งมันไม่เคยสำเร็จตามที่เขาแชร์มาเลย ชักโครกก็ยังคงพัง จานก็ยังแตกเหมือนเดิม
ถึงแม้ว่าคอนเทนต์ที่ผมทำอาจจะดูเป็นเรื่องตลก และมีคนชอบมากมาย แต่ความจริงคือสิ่งที่แชร์บนแพลตฟอร์มเหล่านี้ มันก็คงปรากฏให้เยาวชนได้เห็นด้วย และพวกเขาอาจนำไปทำตามจนเกิดอันตรายได้
ทั้งนี้โคแฟค เชิญชวนทุกท่านให้มาเป็นชาวชุมชนคนโคแฟค ร่วมกันค้นหาความจริง เพื่อสร้างสุขภาวะของสังคม สามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโคแฟคได้ที่เว็บไซต์ cofact.org หรือ แอด Line @cofact
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |