นักวิทยาศาสตร์คิดค้นหุ่นยนต์ที่สามารถรักษาตัวเองได้จากสเต็มเซลล์ของกบมีเล็บสายพันธุ์แอฟริกา (African Clawed Frog) โดยเจ้าหุ่นยนต์จิ๋วตัวนี้มีชื่อว่า Xenobot ที่หยิบยืมชื่อจากชื่อทางวิทยาศาสตร์ของกบแอฟริกันชนิดนี้ (Xenopus Laevis) มารวมกับคำว่า Robot (หุ่นยนต์)
กบมีเล็บสายพันธุ์แอฟริกา (African Clawed Frog) - Xenopus Laevis
ภาพจาก : https://www.californiaherps.com/frogs/pages/x.laevis.html
ซึ่ง Xenobot นี้เป็นการร่วมมือกันวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จาก 3 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัย Tufts, Vermont และ Harvard ที่ตั้งใจพัฒนา “สิ่งมีชีวิตกึ่งหุ่นยนต์” ขนาดจิ๋ว (เล็กกว่า 1 มิลลิเมตร) นี้มาเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์และสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะใช้เพื่อการทำความสะอาดสารตกค้างของรังสีภายในพื้นที่ต่างๆ , เก็บไมโครพลาสติกในทะเล หรือทำความสะอาดคราบจุลินทรีย์ภายในหลอดเลือดแดงภายในตัวของมนุษย์
“พวกมันไม่เหมือนกับหุ่นยนต์ทั่วไปที่เราคุ้นเคยหรือสัตว์ชนิดอื่นๆ ในระบบนิเวศ มันเป็นอีกขั้นหนึ่งของสิ่งประดิษฐ์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่เราสามารถตั้งโปรแกรมได้” Joshua Bongard หนึ่งในผู้วิจัยกล่าว
โดยนักวิทยาศาสตร์ได้สร้าง Xenobot นี้สร้างขึ้นมาจากการดึงเอา ชิ้นส่วนเซลล์ผิวหนังและหัวใจจากเอมบริโอของกบ มาเพาะเลี้ยงให้มันเติบโตก่อนที่จะทำการตัดแต่งรูปร่างและ ตั้งโปรแกรม การเคลื่อนไหวของมันด้วยเครื่อง Supercomputer ซึ่งลักษณะภายนอกของ Xenobot จะมีความแตกต่างจากหุ่นยนต์ประเภทอื่นๆ เพราะมันไม่ได้กลไกหรือแขนกล แต่มีลักษณะคล้ายกับก้อนเนื้อสีชมพูขนาดเล็ก (ณ ตอนนี้มีจำนวน 5 รูปแบบ) สามารถเดินและว่ายน้ำได้ มีพฤติกรรมอยู่อาศัยกันเป็นกลุ่ม และมีชีวิตอยู่โดยปราศจากอาหารได้ราว 1 อาทิตย์
ภาพจาก : https://www.wired.com/story/xenobot/
นักวิจัยได้ทดลองตัดแบ่งตัว Xenobot ออกเกือบครึ่งหนึ่งเพื่อทดสอบความสามารถในการเยียวยาตัวเองของมัน และพบว่า Xenobot สามารถ เย็บตัวเองเข้ากับอีกครึ่งที่เหลือได้
ภาพจาก : https://news.zing.vn/gap-go-xenobot-sinh-vat-lap-trinh-dau-tien-tren-the-gioi-post1036186.html
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงก้าวแรกที่สำคัญของการพัฒนา “สิ่งมีชีวิตกึ่งหุ่นยนต์” ชนิดนี้เพียงเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการ พัฒนาความสามารถของ Xenobot ในด้านต่างๆ รวมทั้งแก้ไขการเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ เพราะ ณ ขณะนี้ Xenobot ยังมีข้อจำกัดอยู่ที่หากมันหงายท้องแล้วจะไม่สามารถพลิกตัวกลับมาดังเดิมได้ (คล้ายเต่า)
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |