ทุกวันนี้ความเร็วในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้านทั้งด้านการใช้ชีวิต, การกิน, การอยู่อาศัย, การเดิน, การนอน จากคนที่อ่านหนังสือพิมพ์ในตอนเช้าก็เปลี่ยนพฤติกรรมมาอ่านข่าวในออนไลน์ จากการเดินทางโดยใช้แผนที่แบบกระดาษ ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้โปรแกรมนำทางที่ระบุตำแหน่ง จากเดิมดูทีวีระบบแอนะล็อกก็เปลี่ยนมาดูในมือถือ หรือเว็บผู้ให้บริการสื่อในรูปแบบอื่นๆ ในกรณีเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็สามารถเอาโทรศัพท์มือถือถ่ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วส่งให้ผู้คนดูได้เลย จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามาในชีวิตเราอย่างไม่รู้ตัวแล้วพัฒนาอย่างรวดเร็ว
แต่การเข้ามาของเทคโนโลยีก็ทำให้อะไรบางอย่างหายไป อย่างเช่น การเข้ามาของกล้องดิจิตอลส่งผลให้ธุรกิจขายฟิล์มและร้านอัดรูปต้องเจอกับภาวะยอดขายตกลง หรือการเกิดขึ้นของ OTT (Over The Top) คือผู้ให้บริการสื่อผ่านระบบอินเทอร์เน็ต อธิบายง่ายๆ คือทุกคนสามารถดูรายการหรือฟังเพลงที่ชอบ เวลาไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ จนทำให้ช่องทีวี หรือ หนังสือพิมพ์ปิดตัวไปอย่างรวดเร็ว จากเหตุการณ์ที่ยกตัวอย่างมา ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า Digital Disruption อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด
Moore's Law Source : World Economic Forum
โดยตามหลักการ ทฤษฎีของ มัวร์ (Moore's Law) กล่าวไว้ว่า คอมพิวเตอร์จะเร็วขึ้นเป็นเท่าตัว ทุกๆ สองปี อย่าไปติดกับคำว่าคอมพิวเตอร์เหมือนคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะนะครับ คอมพิวเตอร์ในที่นี้หมายถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกอย่างใกล้ๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็น มือถือ กล้อง นาฬิกา แว่นตา รถยนต์
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมการเป็นอยู่ การทำธุรกิจก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากการขายแบบเดิมๆ ที่ต้องไปยังสถานที่หนึ่งเพื่อการทำการซื้อขายแลกเปลี่ยน ลูกค้าต้องเดินทางเพื่อไปซื้อของ ก็สามารถสั่งได้ผ่านโปรแกรมที่อยู่ในอุปกรณ์ใกล้ๆ ตัวได้เลย ใกล้ตัวกว่านั้นการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงิน จากที่ต้องไปสาขาเพื่อรับบัตรคิวเพื่อทำธุรกรรม หรือเดินไปตู้กดเงินสดเพื่อกดเงินออกมาซื้อของ ก็ใช้เป็นการโอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีที่ทันสมัยนี่แหละที่จะเปลี่ยนชีวิตเราไปตลอดกาล
จากโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว คนที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว หรือคนที่อยากทำกิจการใหม่ๆ อาจจะต้องรีบปรับตัวให้ทันสมัย เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ตรงนี้ผมมีตัวอย่างน่าสนใจอันหนึ่งอยากยกตัวอย่างให้ฟัง มีป้าขายข้าวผัดคนหนึ่งร้านอยู่ริมทางเป็น SME เล็กๆ ทุนในการทำธุรกิจ หลักพันบาทต่อวัน ส่งลูกเรียนเพื่อไม่อยากให้ลูกชายลำบาก เหมือนตนเอง แต่พอลูกชายเรียนจบ ก็ตั้งใจมาช่วยงานแม่ ลูกชายบอกแม่ว่าร้านเราต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี คุณแม่เจ้าของร้านพูดเต็มสองหูผมเลย “จะบ้าหรือเปล่า? ร้านขายข้าวข้างทางมันห่างไกลจากการเอาเทคโนโลยีมาใช้ เสียเวลาจริงๆ” สุดท้ายลูกชาย เริ่มทำแบรนด์ดิ้งลงสื่อโฆษณาออนไลน์ ไปลงทะเบียนกับผู้ให้บริการส่งอาหาร รีวิวอาหารร้านของตัวเอง ต่อมาขายดีมาก จนต้องจ้างคนมาทำกับข้าว รายได้หลายหมื่นบาทต่อวัน คุณแม่จากที่ต้องผัดข้าวจนปวดมือ ต้องกลายมาเป็น นั่งนับเงินจนปวดแขนแทน เห็นไหมครับ จากธุรกิจที่ไม่น่าจะเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ได้ กลับกลายเป็น ธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองเพราะเทคโนโลยีจริงๆ การทำเทคโนโลยีมาใช้ในลักษณะนี้ เรียกว่า Digital Transformation
หลายๆ คนคงได้ยินคำว่า Digital Transformation มาบ้าง (บางที่เรียก DT บางที่เรียก DX) บางครั้งก็มาในรูปแบบของ Social Media บางครั้งก็มาในรูปแบบของ โปรแกรมพิมพ์งาน, ทำตารางสรุปในเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่จริงๆ แล้ว การทำ Digital Transformation ในมุมของการทำธุรกิจ จริงๆ แล้วมันคือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มมูลค่าของทรัพยากรทุกอย่างในองค์กร ทำให้องค์กรทุกขนาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้นทุนจะน้อยลง รายได้มากกว่าเดิม โดยใช้เทคโนโลยีแบบต่างๆ เข้ามาจัดการงานที่ทำ ลดกระบวนการการใช้ทรัพยากร
ระบบจัดการคลังสินค้าอัตโนมัติ ที่บริษัทขนส่งระดับโลกนำมาใช้
ยกตัวอย่างจากจีนนะครับ ธุรกิจสายการผลิต ก็สามารถนำหุ่นยนต์, เครื่องจักรกลเข้ามาทำงานแทนแรงงาน ที่จีนมีโรงงานที่เรียกว่า “Dark Factory” ใจเย็นๆ ครับไม่ใช่โรงงานผิดกฎหมาย แต่เป็นโรงงานที่ไม่ต้องเปิดไฟทำงาน เพราะในโรงงานใช้เครื่องจักรแขนกล 100% ในการทำงาน เมื่อใช้เครื่องจักร ก็ไม่ต้องใช้แสงสว่างในการทำงาน ใช้เพียงคนคุมงานไม่กี่คนคอยคุมระบบ หรือจะเป็นหุ่นยนต์ที่คอยจัดของในโกดังสินค้าที่มีความสามารถเท่ากับ คนจำนวนมาก อันนี้เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้นะครับ ต่างประเทศทำกันหมดแล้ว แล้วธุรกิจคุณล่ะ?
ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ Digital Transformation จุดมุ่งหมายของมันคือ ทำธุรกิจให้เร็วกว่าเดิม ขายได้ 24 ชั่วโมง กลุ่มลูกค้ากว้างมากขึ้น รายได้มากขึ้น แถมประกันความเสี่ยงของธุรกิจไม่ให้ติดขัดเพราะระบบงานไปยึดติดกับ “คน” อีกด้วย จากที่เคยถามคำถามนี้กับคนทำธุรกิจ 99% บอกว่าสนใจ
ผมได้มีโอกาสได้เข้าไปคุยกับ คนทำธุรกิจขายอะไหล่รถยนต์เก่าเจ้าหนึ่งย่านบางนา เจ้าของอายุ 70 กว่าๆ อยากปรับปรุงระบบ การทำงานให้ดีขึ้น ปัญหาใหญ่ที่สุดหลังจากพูดคุยคือ มีแต่ตนเองและลูกชายเท่านั้น ที่รู้ว่าอะไหล่ชิ้นที่ลูกค้าต้องการ อยู่ตรงไหน วันไหนเจ้าของและลูกชาย ไม่ว่างพร้อมกัน ไม่มีใครสามารถหาอะไหล่ให้ลูกค้าได้เลย ถ้าจะหาเจอต้องใช้เวลานานมาก ร้านอะไหล่เจ้านี้จึงนำระบบ WMS (Warehouse Management System) เข้ามาใช้ ทำให้ลดเวลาและหน้าที่ แถมเอาระบบ ChatBot มาใช้สามารถตอบคำถามลูกค้าที่หาอะไหล่ ผ่านสื่อออนไลน์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หลังจากนำระบบมาใช้ ทุกวันนี้ เจ้าของนอนอยู่บ้าน วาดรูป ออกไปถ่ายรูป ออกกำลังกาย ใช้เวลาไปทำในสิ่งที่ตนเองชอบ แต่ยังรู้รายได้ ยอดขาย และปัญหาของบริษัทได้ตลอดเวลา แถมยอดขายก็เพิ่มขึ้นด้วย หาของมาขายไม่ทันเลยทีเดียว
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับตัวอย่างที่ยกมาในบทความ
มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความเชื่อในความคิดเก่า ขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่เจอมานะครับ มีร้านขายเสื้อผ้านำเข้าจากจีน ย่านประตูน้ำ เจ้าของเจอปัญหายอดขายตกลง เห็นเพื่อนขายของไปต่างประเทศ เลยอยากได้ระบบการขายผ่านออนไลน์มาใช้บ้าง ความลำบากของการทำงานกับเจ้านี้คือ ไม่เก็บข้อมูลให้อยู่รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เลย ไม่มีระบบจัดการบริหารหลังบ้าน ไม่รู้ว่าสินค้าเหลือเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าสินค้าที่เหลืออยู่ตรงไหน และจะไม่จดบันทึกใดๆ เพราะมองว่าเสียเวลา เด็กคนงานต่างชาติเป็นคนรู้แค่คนเดียวว่าสินค้าอยู่ตรงไหน เก็บของไม่เป็นที่เป็นทาง สินค้าตัวเดียวกันก็เก็บคนละที่เพราะมาคนละรอบการสั่งของ แต่เจ้าของก็อยากขายของออนไลน์ เพราะคิดว่าการขายของออนไลน์ คือการเอาสินค้ามากางแล้วเอาโทรศัพท์มาถ่าย LIVE ขายเพื่อให้มียอดที่ดีขึ้น ทำไม่ได้ครับเพราะยังยึดติดกับความเชื่อเดิม
โลกที่เปลี่ยนแปลงด้วย Disruption Technology รัฐบาลไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ได้มีการวางนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย จากนโยบายนี้ จะทำให้ประเทศไทย เปลี่ยนจากประเทศที่ทำสินค้าเชิงโภคภัณฑ์ ไปเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ เน้นการบริโภคสินค้าแทนการผลิตสินค้า ตรงนี้อย่าเข้าใจผิดว่าเราจะเลิกผลิตสินค้าเกษตรนะครับ แต่ทิศทางคือเอานวัฒกรรมมาเพิ่มมูลค่าเกษตรกรรมให้ได้ผลผลิตมากขึ้นในต้นทุนต่ำลง เกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้นตามหลัก, เปลี่ยน SMEs ให้กลายเป็น Smart Enterprises, เปลี่ยน Traditional Services มาเป็น High Value Services เปลี่ยนแรงงานที่มีทักษะน้อย มาเป็นแรงงานทักษะสูงซึ่งตอนนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมมือกับภาคเอกชน ได้เริ่มงานฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลไปเรียบร้อยแล้ว จากเรื่องที่กล่าวมายังมีนโยบายด้านอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีมาจัดการครบทุกด้าน
การวางโครงข่ายเน็ตประชารัฐเพื่อให้คนไทยทั้งประเทศมีอินเตอร์เน็ตใช้ทุกหมู่บ้าน
อีกทั้งทางรัฐบาลยังได้มอบหมายให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Ministry of Digital Economy and Society) ให้วางรากฐานโครงข่ายระดับประเทศ และระบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนนโยบายนี้แบบเต็มที่ ไทยแวร์เคยได้เขียนเรื่องนี้ไว้ อ่านที่นี่ จากนโยบายที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจเลยกับเรื่องนี้ จัดหนักจัดเต็มกันเลยทีเดียว
นอกจากนโยบายใหญ่ๆ ตามที่กล่าวมา ในหน่วยงานราชการ ก็ยังมีการพัฒนาระบบเพื่อบริการประชาชน แบบรวดเร็ว ใช่ครับ รวดเร็ว ตามนโยบาย Thaialnd 4.0 จริงๆ มาดูตัวอย่างกัน
นี่คือตัวอย่างที่ภาครัฐเริ่มทำ Digital Transformation อย่างจริงจังและเต็มระบบ ขนาดภาครัฐยังตื่นตัวขนาดนี้ ผมคิดว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แน่นอนครับ
ตอนนี้หลายๆ คนคงเกิดคำถามว่า อยากจะเริ่มศึกษาวิธีการปรับองค์กรให้ทำงานรวดเร็วขึ้น ต้องเริ่มจากจุดไหนแบบง่ายๆ เลยครับคือ เอาความคิดที่ว่า ทำไม่ได้หรอก ออกจากหัว แล้วเขียนแผนการทำงานให้ชัดเจน ว่าทำอะไร ที่ไหน อย่างไร สิ่งอะไรสำคัญต่อธุรกิจจริงๆ ตัดระบบการทำงานที่ไม่จำเป็นออก แล้วหาเทคโนโลยีมาจัดการทำงานนั้นๆ ตามแผนงานที่เขียนไว้ เตรียมพัฒนาคนให้พร้อมกับการใช้งานระบบ อันนี้เป็นขั้นตอนง่ายๆ ในการทำ Digital Transformation
การทำธุรกิจ จะแบ่งเป็นส่วนหลักๆ คือ ธุรกิจบริการ และ ธุรกิจการผลิต ขออธิบายกว้างๆ ก่อนแล้วกันนะครับ ธุรกิจชนิดแรก ธุรกิจบริการ เป็นธุรกิจ ที่ให้บริการทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะ ส่งของ ร้านขายของชำ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซ่อมรถ ฯลฯ แนวการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของธุรกิจบริการก็คือ ให้บริการแบบเต็มที่ เช่นการดูแลลูกค้า การตอบลูกค้า ติดตามสินค้าที่กำลังส่ง เสนอโปรโมชันของที่ลูกค้าซื้ออยู่ประจำ อีกแนวการทำธุรกิจคือ ธุรกิจการผลิต การทำธุรกิจแนวนี้เน้นคุณภาพของสินค้าเป็นหลัก เช่น โรงงานผลิตขนมปัง โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ จุดมุ่งหมายของธุรกิจการผลิตคือ ทำสินค้าให้มีคุณภาพ ตรงตามเวลา ก็ใช้ โปรแกรมด้าน QC QA มาพัฒนาคุณภาพของสินค้าที่ผลิต เป็นต้น
การยกตัวอย่างข้างต้น เป็นการยกตัวอย่างแบบคร่าวๆ เท่านั้นนะครับ ยังมีระบบงาน และโปรแกรมที่สามารถเข้ามาลดการทำงานและเพิ่มมูลค่าได้อีกมากมายหลายระบบ ทั้งนี้ผมแนะนำว่า ถ้าจะให้เจาะลึกไปกว่านี้ คงต้องเอาแผนธุรกิจนั้นๆ มากางบนโต๊ะ แล้ววิเคราะห์กันอย่างละเอียดกันอีกที
Mega Trend อย่าง Digital Disruption จนต้องทำให้เกิด Digital Transformation เพื่อพัฒนาองค์กร ให้ตอบรับโลกที่หมุนรวดเร็ว ไม่มีใครจะหนีไปจากเหตุการณ์นี้ไปได้ คนทำธุรกิจต้องเตรียมปรับตัวให้ทัน จากตัวอย่างที่ยกมาบอกได้เลยว่า ทุกคนไม่สามารถหนีการ Digital Disruption ได้เลย สิ่งที่เราควรทำคือการปรับตัว เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น นำมาประยุกต์ใช้ ถ้าไม่มีการปรับตัว ทั้งตัวเราเองและธุรกิจที่ทำก็จะสู้คนอื่นไม่ได้ และต้องปิดหรือหยุดกิจการไปในที่สุด
|
Review...Every thing |