พวกเราเชื่อกันมาอย่างยาวนานว่า อาหารเช้า คือมื้ออาหารที่สำคัญที่สุดของวัน โดยมีแนวคิดว่า การกินอาหารในตอนเช้า ทำให้ระบบการเผาผลาญอาหารของเราทำงานได้ดีขึ้น และช่วยลดอาการที่อยากกินอาหารมากจนเกินพอดีในช่วงวัน ซึ่งเชื่อว่ามีประโยชน์สำหรับคนที่ต้องการควบคุมหรือดลน้ำหนัก ดังนั้นพวกเราจึงรู้สึกดีกับอาหารมื้อเช้ามากๆ
แต่ในความเป็นจริงก็คือ อาหารมื้อเช้านั้น อาจไม่ได้เป็นผลดีกับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก อ้างอิงจากผลงานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในสื่อ British Medical Journal ที่เป็นผลจากการตรวจสอบผลงานวิจัยอื่นๆ มากมายที่เกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมการกินอาหารเช้า เพื่อที่จะวาดภาพให้ชัดเจนว่า การกินมื้อเช้านั้นส่งผลกระทบต่อน้ำหนักตัวอย่างไร และดูเหมือนผลที่ออกมาจะไม่เข้าข้างคนที่รักการกินอาหารมื้อเช้าเอาซะเลย
โดยผู้เขียนงานวิจัย อธิบายว่า "อย่างไรก็ดี กลยุทธในการหลีกเลี่ยง และจัดการกับความอ้วนนั้นประกอบไปด้วยหลายปัจจัย โดยความเชื่อพื้นฐานนั้น แนะนำว่าอาหารมื้อเช้า มีความสำคัญในการควบคุมน้ำหนัก และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการต่อต้านความอ้วน การให้คำแนะนำนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า การไม่กินมื้อเช้า จะทำให้เกิดการบริโภคอาหารที่มากเกินพอดีในระหว่างวัน"
ซึ่งความเชื่อเรื่องอาหารเช้าในรูปแบบนี้ก็ดูสมเหตุสมผลดี แต่จากข้อมูลที่รวบรวมมาได้จากหลายๆ งานวิจัยนั้นชี้ชัดว่า กฎเกณฑ์แบบนี้ไม่เป็นจริงสำหรับหลายๆ คน โดยในการเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่กินอาหารเช้า กับที่ผู้ที่ไม่กินอาหารเช้า งานวิจัยบอกกับเราว่า คนที่กินอาหารเช้า กลับมีแนวโน้มที่จะกินอาหารมากขึ้นในช่วงวัน
แต่อย่างไรก็ดี ผู้เขียนงานวิจัยพบว่าอาจมีรายละเอียดบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้ได้บทสรุปอย่างชัดเจนว่า ประโยชน์ของการกิน หรือไม่กินอาหารเช้านั้นเป็นเช่นไร แต่อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ข้อมูลก็ชี้ให้เห็นว่า คนที่ไม่กินมื้อเช้าหนักๆ นั้นมีแนวโน้มที่จะหุ่นดีกว่าคนที่จริงจังกับการกินอาหารเช้า
ผู้เขียนงานวิจัย อธิบายว่า "การเน้นหนักกับอาหารมื้อเช้า อาจไม่ใช่วิธีการที่ดีในการลดน้ำหนัก โดยควรมีการทบทวนใหม่ กับการแนะนำอาหารมื้อเช้าให้กับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก เพราะมันอาจจะทำให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม"
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |